Redirecting in 1 seconds...

 หน้าหลัก: หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) Thai Film Archive
วันสำคัญทางภาพยนตร์
๑๐ มิถุนายน วันกำเนิดภาพยนตร์ในสยาม
๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๐ เป็นวันที่มีการฉายภาพยนตร์ในฐานะมหรสพ เก็บเงินค่าเข้าชมจากสาธารณชนเป็นครั้งแรกบนแผ่นดินสยาม  โดยพบหลักฐานจากหนังสือ
พิมพ์บางกอกไตม์ฉบับวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๐ ซึ่งลงประกาศโฆษณาเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ถึงการจัดฉายภาพยนตร์ในวันที่ ๑๐ ๑๑ และ ๑๒ มิถุนายน 
ณ โรงละครหม่อมเจ้าอลังการ นับเป็นหลักฐานอย่างเป็นทางการชิ้นแรกสุดเกี่ยวกับการฉายภาพยนตร์บนแผ่นดินนี้ และถือเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ใน
ประเทศไทย
         
๗ กันยายน วันสถาปนาหอภาพยนตร์
หลังจากเกิดการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้ทางราชการจัดตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่เก็บรวบรวมและอนุรักษ์ภาพยนตร์ในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ปี พ.ศ. ๒๕๒๗ 
ทวีศักดิ์ เสนาณรงค์ อธิบดีกรมศิลปากรได้เสนอเรื่องขออนุมัติ  โครงการจัดตั้งหอภาพยนตร์แห่งชาติจากกระทรวงศึกษาธิการ  และได้รับอนุมัติเมื่อวันที่ ๗ กันยายน
พ.ศ. ๒๕๒๗  วันนี้จึงถือเป็นวันสถาปนาหอภาพยนตร์แห่งชาติ ซึ่งมีฐานะเป็นกลุ่มงานหนึ่งใน สำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร ก่อนได้รับการปฏิรูปเป็น
องค์การมหาชน ในชื่อ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)  เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๒  นับเป็นหมุดหมายสำคัญของการถือกำเนิดงานอนุรักษ์ภาพยนตร์ของชาติอย่าง
เป็นทางการ
 
๔ ตุลาคม วันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย
๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ คณะอนุกรรมการการสื่อสารมวลชน ในคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ ซึ่งมี
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร ทรงเป็นประธาน ได้มีมติเสนอให้ หอสมุดแห่งชาติเปิดแผนกเก็บรักษาฟิล์มภาพยนตร์ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม
ของชาติ เพื่อให้ยุวชนได้เข้าศึกษาค้นคว้าอย่างสะดวก โดยองค์ประธานและอนุกรรมการบางท่าน ได้แสดงเจตนาจะบริจาคฟิล์มภาพยนตร์ที่สำคัญจำนวนหนึ่งประเดิม
แก่หอสมุดด้วย   ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ความคิดเรื่องการอนุรักษ์ภาพยนตร์ในเมืองไทยได้เกิดขึ้นอย่างจริงจังและเผยแพร่สู่สาธารณะ
 
ปี พ.ศ. ๒๕๕๔ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้กำหนดให้วันที่ ๔ ตุลาคมของทุกปีเป็น วันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย  เพื่อเป็นการคารวะในเจตนารมณ์ของ
คณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้  และยังได้สานต่อความคิดเรื่องการอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทยให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ด้วยการขึ้นทะเบียนภาพยนตร์ที่มีความสำคัญให้เป็นมรดก
ภาพยนตร์ของชาติ โดยประกาศรายชื่อในวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทยนี้ ต่อเนื่องไปทุกปี
 
๘ ตุลาคม วันรำลึกมิตร ชัยบัญชา
๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ มิตร ชัยบัญชา พระเอกหนังไทยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล ได้เสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน จากการพลัดตกบันไดเฮลิคอปเตอร์ ขณะถ่ายทำ
ภาพยนตร์เรื่อง อินทรีทอง สร้างความตกใจและเศร้าโศกเสียใจให้แก่ผู้คนในวงการและแฟนหนังไทยทั่วประเทศ
 
ทุกปี เมื่อถึงวาระครบรอบการเสียชีวิตของมิตร ชัยบัญชา หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) จะจัดงานรำลึกถึงตำนานแห่งวงการภาพยนตร์ไทยผู้นี้ ด้วยการฉายผลงาน
การแสดงภาพยนตร์ และเชิญบรรดาคนรักมิตร มาร่วมวางดอกไม้บนรอยพิมพ์มือของเขา ณ ลานดารา หน้าโรงภาพยนตร์ศรีศาลายา
 
๑๗ ตุลาคม วันสรรพสาตร
ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้จัดสร้างพระรูปประติมากรรมของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ
ผู้ที่ทรงสถิตในฐานะ  " พระบิดาแห่งภาพยนตร์สยาม"   และประดิษฐานไว้บนลานหน้าพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย  ในโอกาสพระประสูติกาล ๑๕๐ ปี และกำหนดให้
วันที่ ๑๗ ตุลาคม ซึ่งเป็นวันประสูติของพระองค์ เป็นวันสรรพสาตร ตั้งแต่ปีนั้น
 
ทุกปีในวันสรรพสาตร  หอภาพยนตร์ฯ จะจัดกิจกรรมวางพานพุ่มบูชาและดอกไม้เพื่อสักการะพระรูปฯ  และนำมหรสพต่าง ๆ มาจัดแสดง  รวมทั้งจำลองงานวัดเบญจมบพิตร
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่เสด็จในกรมฯ ทรงออกร้านจัดฉายภาพยนตร์เป็นครั้งแรก มาไว้ในงาน เพื่อรำลึกถึงดวงพระวิญญาณและพระเกียรติยศด้านภาพยนตร์ของพระองค์ 
 
วันหนังบ้าน
ในทุก ๆ ปี วงการหนังบ้านทั่วโลกจะจัดกิจกรรมให้บุคคลทั่วไปนำหนังบ้าน หรือหนังที่ถ่ายแบบสมัครเล่นของแต่ละคนมาแบ่งปันกันชมในวันที่กำหนดให้เป็น 
วันหนังบ้าน (Home Movie Day) ซึ่งปัจจุบันคือวันเสาร์ใดเสาร์หนึ่งของเดือนตุลาคม  โดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้ร่วมจัดกิจกรรมวันหนังบ้านนี้ ด้วยการ
นำหนังบ้านที่บันทึกเรื่องราวและเหตุการณ์ที่น่าสนใจ ซึ่งหอภาพยนตร์ฯ ได้รับบริจาคและทำการอนุรักษ์ไว้ ออกมาเผยแพร่ให้ผู้คนได้ชื่นชม รวมทั้งเปิดคลินิกหนังบ้าน
ให้ผู้ร่วมงานนำหนังบ้านของตนมาตรวจเช็คสภาพ และรักษาซ่อมแซม
 
๒๗ ตุลาคม วันมรดกโสตทัศน์โลก
วันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ ที่ประชุมใหญ่ขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ ๒๑ ที่ กรุงเบลเกรด มีมติรับรองการประกาศ "ข้อเสนอแนะว่าด้วยการพิทักษ์และอนุรักษ์บรรดา
ภาพเคลื่อนไหว"  ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่องค์การระดับสากลมีข้อเสนอแนะให้ตระหนักถึงความสำคัญของภาพเคลื่อนไหว อันหมายรวมถึง ภาพยนตร์ วีดิทัศน์ แผ่นเสียง
และแถบบันทึกเสียง ผ่านไป ๒๕ ปี ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ องค์การยูเนสโกได้ทบทวนข้อเสนอแนะดังกล่าว และพบว่าภาพเคลื่อนไหวหรือสื่อโสตทัศน์นั้น กำลังตกอยู่ในภาวะ
วิกฤติมากขึ้น จึงเริ่มกำหนดให้วันที่ ๒๗ ตุลาคม เป็น "วันมรดกโสตทัศน์โลก"  ตั้งแต่ปีถัดไป คือ ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ เพื่อให้นานาชาติพร้อมใจกันจัดกิจกรรมให้มนุษยชาติ
ตระหนักถึงวิกฤติการณ์นี้
         
หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้ร่วมจัดกิจกรรม วันมรดกโสตทัศน์มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีแรก โดยมีกิจกรรมหลักคือ การติดตั้งแผ่นป้ายโลหะ ณ สถานที่สำคัญ
ในประวัติศาสตร์สื่อโสตทัศน์ของประเทศ  เช่น  ธนาคารแห่งประเทศไทย บางขุนพรหม ซึ่งอดีตเคยเป็นที่ตั้งของสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทย  
วังบ้านดอกไม้ ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน พระบิดาแห่งกิจการวิทยุกระจายเสียงไทย  และเป็นสถานที่ทดลอง
การรับและส่งวิทยุกระจายเสียงครั้งแรก  โรงงานผลิตไอศกรีมไผ่ทอง ซึ่งในอดีตเคยเป็นที่ตั้ง บ้านสะพานขาวของพี่น้องสกุลวสุวัต ผู้ให้กำเนิดภาพยนตร์ไทยเรื่องแรก
และยังเป็นที่ตั้งโรงถ่ายทำภาพยนตร์เสียงเรื่องแรกของไทย ซึ่งเป็นฝีมือของพี่น้องสกุลนี้
         
๒๘ ธันวาคม วันกำเนิดภาพยนตร์โลก
ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ หลังจากที่โทมัส อัลวา เอดิสัน นักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์เอกของโลกชาวอเมริกัน ได้ประดิษฐ์ภาพยนตร์แบบถ้ำมอง ใส่ไว้ในตู้
กลไกทำด้วยไม้เรียกว่า คิเนโตสโคป (Kinetoscope) ให้ผู้ชมมองดูผ่านรูทีละคน นักประดิษฐ์คิดค้นทางภาพยนตร์อีกหลายรายก็ได้พยายามพัฒนาประดิษฐกรรมภาพยนตร์
แบบถ้ำมองของเอดิสันนี้ ให้สามารถฉายภาพเคลื่อนไหวไปขยายขึ้นบนจอให้ผู้ชมดูได้พร้อมกันคราวละมากๆ 
         
จนกระทั่งวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๘ ที่ใต้ถุนร้านกาแฟแห่งหนึ่งในกรุงปารีส หลุยส์และออกุสต์    ลูมิแอร์ ชาวฝรั่งเศส ได้นำสิ่งประดิษฐ์ทางภาพยนตร์ เรียกว่า
ซีเนมาโตกราฟ (Cinematograph) ของพวกเขา  ออกฉายขึ้นจอเก็บค่าเข้าชมก่อนใครเป็นรายแรก ซึ่งต่อมาได้ถือกันให้ วันที่ ๒๘ ธันวาคม เป็น วันกำเนิดภาพยนตร์
ของโลก

 


SUBSCRIBE
TO THE MAILING LIST